รายละเอียดหลักสูตร
(1) คำอธิบายหลักสูตร
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ในการจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (2544-2564) และยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุของกระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุม 4 มิติ คือ มิติสุขภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความเข้มแข็งการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย ประกอบกับ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดให้มีการสนับสนุนการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคต หลังวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษา จัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้เสริมสร้างทักษะใหม่ (Reskill) และพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19
จากการสำรวจภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พบว่า มีผู้สูงอายุ เมื่อแบ่งตามกลุ่มศักยภาพตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันดัชนีบาร์เธอเอดีแอล (Barthel ADL Index) จำแนกผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุกลุ่ม 1 พึ่งตนเองได้บ้าง (คะแนน ADL ตั้งแต่ 12 ขึ้นไป) ผู้สูงอายุกลุ่ม 2 พึ่งตนเองได้แต่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ (คะแนน ADL อยู่ในช่วง 5-11) และผู้สูงอายุกลุ่ม 3 พึ่งตนเองไม่ได้ (คะแนน ADL อยู่ในช่วง 0-4 ) โดยจะคัดเลือกผู้ที่มีจิตอาสากลุ่มนำร่องด้านการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long term care) เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยดี มีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง คือ Care giver 1 คน ดูแลผู้สูงอายุจำนวน 5 คน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่นโดยความจำเป็นต้องผ่านการอบรม Care giver เพื่อให้มีครอบคลุมทุกหมู่บ้านในการดูแลคุณภาพผู้สูงอายุในสังคมผู้สูงอายุสมบรูณ์แบบต่อไป
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีบทบาทสำคัญในการบริการวิชาการและรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นในการดูแลให้ผู้สูงอายุในครอบครัวที่ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนจากโควิด 19 จำเป็นต้องผลิตกำลังคนในการเสริมสร้างคุณภาพผู้สูงอายุให้มีความสุข ด้วยการผลิตบุคลากรที่ต้องการอาชีพใหม่หรือต้องการทดแทนภาวะไร้งานทำ เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีความพร้อมทั้งด้านความรู้และบริการด้วยจิตอาสาอย่างมีคุณภาพต่อไป
(2) ทักษะที่ได้รับ
การดูแลผู้สูงอายุและ/หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
(3) เนื้อหาหลักสูตร
1) ความจำเป็นของการดูแลผู้สูงอายุ และแนวคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุ
2) โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเรื้อรัง/อาการ และการดูแลในแต่ละโรค
3) การจัดการภาวะวิกฤต/ฉุกเฉินเบื้องต้น
4) การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ต้องการดูแลระยะยาวเบื้องต้น
5) การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เนื่องจากชราภาพ
6) การใช้ยาในผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลระยะยาว
7) การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ที่ต้องการการดูแลระยะยาว
8) สุขภาพจิตกับผู้สูงอายุ/ การดูแลตนเองเพื่อคลายเครียด
9) การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
10) ภูมิปัญญาชาวบ้าน/แผนไทยกับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
11) สิทธิผู้สูงอายุ
12) การฝึกปฏิบัติงาน
(4) อาชีพเป้าหมายเมื่อจบการศึกษา / สถานการณ์ความต้องการอาชีพนี้ในปัจจุบัน และอนาคต
พนักงานดูแลผู้สูงอายุและ/หรือพนักงานดูแลผู้ป่วย (ผู้ป่วยพักฟื้นที่ต้องการความช่วยเหลือ)
(5) ระยะเวลาของหลักสูตร
ภาคทฤษฎี จำนวน 23 ชั่งโมง และภาคปฏิบัติ 22 ชั่วโมง รวมจำนวน 45 ชั่วโมง วันละ 6 ช.ม. เป็นเวลา 7.5 วันและฝึกปฏิบัติจริงในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือครอบครัวในชุมชน(On the job training) อีก 7 วัน วันละ 6 ช.ม. คิดเป็น 42. ช.ม. รวมทั้งสิ้น 87 ช.ม.
(6) วันและเวลาในการเรียน
รุ่นที่ 1 ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ 3 ส.ค.-13 ส.ค. 63 การฝึกปฏิบัติ 17 ส.ค.-25 ส.ค. 63
ข้อมูลอาจารย์ผู้สอน / วิทยากร
อาจารย์ที่เชี่ยวชาญจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์และการยภาพบำบัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์จากสถาบันการแพทย์แผนไทย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คุณสมบัติและการรับสมัคร
– แรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้าง/แรงงานคืนถิ่น และแรงงานนอกระบบที่ไม่มีรายได้อายุ 18 ปีขึ้นไป
– จบการศึกษา วุฒิ ม.6 หรือเทียบเท่า หรือมีประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุ มาอย่างน้อย 2 ปี
ผู้ประสานงาน
เจ้าของหลักสูตร : คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้ประสานงานหลักสูตร : รศ.ดร.พรรณี บัญชรหัตถกิจ โทร : 0942954141
เจ้าหน้าที่ประจำหลักสูตร : นางกรุณา โสฬสจินดา โทร : 0815926808
สอบถามปัญหาการรับสมัคร : นายศรศักดิ์ อุระ โทร. 0987956936 หรือ Line ID: usorasak